
ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ ‘จีน’ ถือเป็นผู้นำของโลก ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่สำคัญของแผงโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่ผลิตจากจีนแทบทั้งสิ้น ในปี 2564 ประมาณการกันว่า ‘โพลีซิลิคอน’ วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ‘แผงโซลาร์เซลล์’ 45% มาจาก ‘ซินเจียง’ ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ในจีน หมายความว่าชิ้นส่วนแผงโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่ในโลกน่าจะถูกผลิตขึ้นที่นี่ และอย่างน้อยบางส่วนก็อาจมีการใช้แรงงานบังคับชาวอุยกูร์ด้วย สหรัฐฯ และยุโรป กำลังกดดันจีนในประเด็นการใช้แรงงานบังคับ มีการออกกฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าจากซินเจียงยกเว้นจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าสินค้าดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานบังคับ
“พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานแห่งเสรีภาพ” คริสเตียน ลินด์เนอร์ รัฐมนตรีคลังของเยอรมนีกล่าวไว้ไม่นานหลังจากรัสเซียบุกยูเครนในเดือน ก.พ. 2565 มีคำเปรียบเปรยว่าเมื่อดวงอาทิตย์ส่องแสงค่าใช้จ่ายด้านพลังงานก็ลดลง และในขณะที่รัสเซียจำกัดการส่งออกก๊าซไปยังยุโรป พลังงานแสงอาทิตย์ก็ดูเหมือนเป็นทางเลือกที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าวหาเรื่องแรงงานทาสในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับต้นทุนที่แท้จริงของ “เสรีภาพ” และการห้ามนำเข้าสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานบังคับ อาจทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดช้าลง ในปี 2564 ประมาณการกันว่า ‘โพลีซิลิคอน’ (Polysilicon) วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ‘แผงโซลาร์เซลล์’ (Photovoltaic – PV) ร้อยละ 45 มาจากซินเจียง ประเทศจีน ซึ่งถูกจับจ้องว่ามีการละเมิดสิทธิชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ซึ่งทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และนานาชาติก็กำลังกดดันประเด็นนี้อย่างหนัก โดยเมื่อช่วงเดือน มิ.ย. 2565 พระราชบัญญัติป้องกันแรงงานที่ถูกบังคับชาวอุยกูร์ (UFLPA) มีผลบังคับใช้ในสหรัฐฯ โดยแถลงการณ์จากฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐฯ ระบุว่ากฎหมายดังกล่าวส่งสารที่ชัดเจนว่าสหรัฐฯ จะไม่สนับสนุนการใช้แรงงานทาสของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและอาชญากรรมร้ายแรงต่อมนุษยชาติ
กฎหมายในสหรัฐฯ และมาตรการในยุโรป
การบังคับใช้กฎหมาย UFLPA เป็นความพยายามล่าสุดของสหรัฐฯ เพื่อกดดันจีนให้จัดการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบังคับในเขตมณฑลซินเจียงทางตอนเหนือของจีน โดยกลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนเชื่อว่า มีการกักขังหน่วงเหนี่ยวแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์ภายในแคมป์คนงานและบังคับให้ทำงานในอุตสาหกรรมการผลิต ดังนั้นภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าวจึงถือว่าสินค้าที่ส่งออกจากซินเจียงทั้งหมดมาจากการผลิตโดยแรงงานบังคับและไม่อนุญาตให้นำเข้ายกเว้นกรณีที่ผู้ส่งออกจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าสินค้าดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแรงงานบังคับ นอกเหนือจากสินค้าในกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์แล้วยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่เข้าข่ายห้ามนำเข้าภายใต้กฎหมายดังกล่าวด้วย เช่น ฝ้าย และมะเขือเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
ในเดือน ก.ค. 2565 รัฐสภายุโรปมีมติที่สอดคล้องกับ UFLPA แต่รวมถึงสินค้าที่ผลิตจากแรงงานบังคับทุกที่ในโลกนอกจากนี้เมื่อเดือน ส.ค. 2565 ผู้เชี่ยวชาญด้านการบังคับใช้แรงงานบังคับของสหประชาชาติ (UN) ชี้ว่ามีเหตุผลเพียงพอที่จะสรุปว่ามีการบังคับใช้แรงงานในกลุ่มชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในภาคการเกษตรและภาคการผลิต ที่เขตปกครองตนเองของชาวอุยกูร์ มณฑลซินเจียง ประเทศจีน ในรายงานของเขายังระบุว่าในภูมิภาคซินเจียงโครงการบรรเทาความยากจนที่มีศูนย์ฝึกอบรมทักษะอาชีพ แต่มีการโยกย้ายแรงงานส่วนเกินไปทำงานอื่นๆ แม้จะได้รับค่าจ้างแต่มีหลักฐานว่าการทำงานหลายๆ อย่างนั้นเป็นการทำงานโดยไม่สมัครใจ แอนนา คาวัซซีนี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเยอรมันกล่าวว่า “เราไม่ควรต้องบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์แต่กลับมีการใช้แรงงานทาส” เธอเชื่อว่ายุโรปสามารถและควรบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศโดยไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ ส่วนจิม วอร์มิงตัน นักวิจัยอาวุโสของ Human Rights Watch เห็นด้วยว่าไม่ควรมีบริษัทใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน
โดย Rights Lab ประเมินว่าอินเดียซึ่งอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศกำลังเฟื่องฟู มีความเสี่ยงการใช้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตโดยแรงงานบังคับจากจีนน้อยที่สุดที่ ร้อยละ 27.1 เท่านั้น สหรัฐฯ เองก็ไม่ได้มีความเสี่ยงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ ร้อยละ 43 ส่วนเยอรมนีมีความเสี่ยงถึง ร้อยละ 55.7, ฝรั่งเศส ร้อยละ 60.6, แคนาดา ร้อยละ 66.9, เนเธอร์แลนด์ ร้อยละ 68.6, ไทย ร้อยละ 68.7%, ไต้หวัน ร้อยละ 77.2, อิสราเอล ร้อยละ 79, สเปน ร้อยละ 83.9, ญี่ปุ่น ร้อยละ 85.1, สหราชอาณาจักร ร้อยละ 85.9, เวียดนาม ร้อยละ 86.3, เกาหลีใต้ ร้อยละ 89.1, อิตาลี ร้อยละ 92.2 และออสเตรเลีย เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงการใช้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตโดยแรงงานบังคับจากจีนมากที่สุดที่ ร้อยละ 94.1 การลดสัดส่วนการครองตลาดชิ้นส่วนอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ของจีนเป็นเรื่องยาก หน่วยงานเอกชนอย่าง Solar Energy UK และ SolarPower Europe ระบุว่าพวกเขาได้ทำงานเพื่อจัดตั้งโครงการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานสำหรับอุตสาหกรรมนี้มาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อให้แน่ใจว่า “ไม่มีแผงโซลาร์เซลล์ที่ทำจากส่วนประกอบใด ๆ ที่เกิดจากแรงงานบังคับสามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของยุโรปได้” โฆษกของ Solar Energy UK กล่าวว่าอาจต้องใช้เวลา 2-3 ปีในการบรรลุวัตถุประสงค์นี้ เจมส์ คอคเคนส์ จาก Rights Lab ระบุว่าแม้จะมีมาตรการใหม่ที่ใช้โดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป แต่ก็เป็นปัญหาสำหรับเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่จะตัดสินใจว่าชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่นำเข้ามานั้นมีการใช้แรงงานบังคับหรือไม่ เนื่องจากผู้ผลิตมักใช้โพลีซิลิคอนจากซัพพลายเออร์หลายราย ในทำนองเดียวกัน บริษัทจีนอาจสร้างสายการผลิตที่ “ปราศจากแรงงานบังคับ” สำหรับตลาดตะวันตก ในขณะที่ยังคงขายผลิตภัณฑ์ที่ใช้แรงงานบังคับในที่อื่นๆ ต่อไป
การสนับสนุนการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์จากแรงงานบังคับเติบโตอย่างช้าๆ ทั่วโลก มีการหารือเกี่ยวกับกฎหมายที่คล้ายกันในสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย ไฮดี ฮัวตาลา รองประธานรัฐสภายุโรป เชื่อว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ใกล้ชิดกับจีนนั้น “อ่อนไหวมากขึ้น” ต่อประเด็นแรงงานบังคับ “แม้จะไม่ทั่วถึง แต่เราต้องเริ่มต้นที่ไหนสักแห่ง” รองประธานรัฐสภายุโรปกล่าว
ที่มา:PRACHATAI
You must be logged in to post a comment.