
พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์’ (Solar power) ที่ใช้แผง ‘โซลาร์เซลล์’ (Solar cell) ในการผลิตกระแสไฟฟ้านั้น ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการผลิตแบบติดตั้งบนพื้นดินที่ใช้พื้นที่จำนวนมาก บางประเทศเริ่มมีการพัฒนาบนพื้นน้ำและในทะเลแล้ว ที่เรียกว่า ‘โซลาร์ฟาร์ม’ (Solar farm) หรือการติดตั้งบนหลังคาอาคารสถานที่ต่าง ๆ ที่เรียกว่า ‘โซลาร์รูฟท็อป’ (Solar rooftop) ซึ่งพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์นี้ได้รับการคาดหวังว่าจะเป็น ‘พลังงานแห่งอนาคต’ หลายประเทศได้ส่งเสริมให้มีการใช้ ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม โดยประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์นี้ด้วยเช่นกัน แต่กลับพบว่า อุตสาหกรรมต้นน้ำอย่างการผลิตและการประกอบแผงโซลาร์เซลล์ของไทยยังต้องพึ่งพิงประเทศอื่นอยู่มาก โดยเฉพาะประเทศจีนอันเป็นมหาอำนาจของโลกในอุตสาหกรรมนี้
ศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ของไทย สำหรับประเทศไทยมีศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ค่อนข้างสูง มีค่าเฉลี่ยความเข้มรังสีของแสงอาทิตย์ทั่วประเทศทุกพื้นที่ เป็นค่ารายวันเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 18.0 เมกะจูลต่อตารางเมตร/วัน ( MJ / m2 – day ) จัดอยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศ

ศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ (ที่มา: คณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา, 2555)
แม้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยยังมีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับพลังงานรูปแบบอื่น แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากในปี 2554 ที่มีการใช้เพียง 100.34 เมกะวัตต์ มาในปี 2558 ข้อมูลจากกรมพลังงานทดแทนระบุว่าไทยใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นเป็น 1,419.58 เมกะวัตต์ (อ่านเพิ่มเติม: สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้าปี 2555-2558) แต่ทั้งนี้ยังถือว่าการผลิตและจ่ายเข้าระบบยังมีปริมาณน้อยอยู่ เพราะจากที่ผ่านมาต้นทุนของไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีราคาสูง โดยเฉพาะการลงทุนโซลาร์ฟาร์ม ผู้ลงทุนจะต้องมีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน เช่น การมีที่ดินมากพอในการสร้างโรงไฟฟ้า เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 1 เมกะวัตต์นั้น ต้องใช้พื้นที่ในการตั้งแผงโซลาร์เซลล์ถึง 15 ไร่ รวมทั้งยังต้องศึกษาสภาพพื้นที่ในการสร้างโรงไฟฟ้าว่ามีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน ส่วนการติดตั้งบนหลังคาแบบโซลาร์รูฟท็อปนั้นก็ยังใช้ต้นทุนที่สูง ประชาชนส่วนใหญ่ทั่วไปไม่มีกำลังทรัพย์ในการติดตั้ง นอกจากนี้เทคโนโลยีที่ใช้ในการก่อสร้างก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะในปัจจุบันแผงโซลาร์เซลล์มีอายุประมาณ 25 ปี ทำให้ค่าดูแลและบำรุงรักษาในแต่ละปีค่อนข้างสูง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีมูลค่าที่สูง (ก่อนปี 2556 มีต้นทุนประมาณ 20 บาทต่อหน่วย) แม้ว่าไทยจะมีนโยบายการส่งเสริมในช่วงหลังโดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป แต่ก็พบว่ายังคงมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา (อ่านเพิ่มเติม: หักเหลี่ยมธุรกิจโซลาร์เซลล์ ยุค คสช. เมื่อ’โซลาร์รูฟท็อป’แค่ใช้เอง-ห้ามขาย และ ‘โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการ’ ส่อแววสะดุด กองทัพ-อปท.ติดข้อกม.-อ้างรบ.ที่แล้ว)
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของไทยยังสูงอยู่ แม้ศักยภาพของแสงอาทิตย์ในไทยจะมีเหลือล้นก็ตาม คืออุตสาหกรรมต้นน้ำอย่างการผลิตโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ในไทยยังมีไม่แพร่หลาย และผู้ประกอบการไทยยังมีศักยภาพทั้งด้านทุนและเทคโนโลยีสู้ต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทจากจีนไม่ได้

ในปี 2558 พบว่าบริษัทจากจีนติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของบริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ ด้วยปริมาณการติดตั้งเป็นจำนวนวัตต์ (watt) มากที่สุดในโลกถึง 6 อันดับ การประมาณการปริมาณกำลังผลิตแผงโซลาร์เซลล์ที่ส่งมอบให้ลูกค้า 10 อันดับในปี 2558 ของบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกมีดังนี้ อันดับ 1 Trina Solar ปริมาณกำลังผลิตที่ส่งมอบให้ลูกค้ารวม 5.74 กิกะวัตต์ อันดับ 2 Canadian Solar กำลังผลิตรวม 4.7 กิกะวัตต์ อันดับ 3 Jinko Solar กำลังผลิตรวม 4.51 กิกะวัตต์ อันดับ 4 JA Solar กำลังผลิตรวม 3.93 กิกะวัตต์ อันดับ 5 Hanwha Q CELLS กำลังผลิตรวม 3.3 กิกะวัตต์ อันดับ 6 First Solar กำลังผลิตรวม 2.8 กิกะวัตต์ อันดับ 7 Yingli Green กำลังผลิตรวม 2.35-2.40 กิกะวัตต์ อันดับ 8 SFCE กำลังผลิตรวม 2.28 กิกะวัตต์ อันดับ 9 กำลังผลิตรวม ReneSola 2.69 กิกะวัตต์ และอันดับ 10 SunPower Corp. กำลังผลิตรวม 1.18-1.25 กิกะวัตต์ ทั้งนี้เป็นบริษัทจากจีนได้แก่อันดับ 1, 3, 4, 7, 8 และ 9 บริษัทจากสหรัฐอเมริกาได้แก่อันดับ 6 และ 10 ส่วนอีก 2 อันดับ (2 และ 5) เป็นบริษัทจากแคนาดาและเกาหลีใต้ตามลำดับ (อ่านเพิ่ม: ‘จับตา : บริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์รายใหญ่ 10 อันดับแรกของโลก’) ส่วนข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าจีนเป็นผู้ผลิตและส่งออกเซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยสามารถส่งออกแผงโซลาร์เซลล์สู่ตลาดโลกได้ประมาณ 16.7 กิกะวัตต์ต่อปี คิดเป็นมูลค่าการส่งออกโดยรวมมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ผู้ประกอบการจีนก็ยังได้ทำการขยายฐานการผลิตเพื่อส่งออกเซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ไปยังประเทศต่าง ๆ มากขึ้นอีกด้วย |
อุตสาหกรรมผลิตแผงโซลาร์ของไทย

ต้นทุนการผลิตที่แพงกว่า เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของไทยสู้จีนไม่ได้ แนวโน้ม ‘การลงทุนร่วม’ ระหว่างไทยกับจีนจึงมีมากขึ้นในปัจจุบัน (ที่มาภาพ: pv-tech.org)
ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา (ปี 2556) ระบุว่าการผลิตโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศไทย เริ่มขึ้นในช่วงปี 2546 โดยเป็นการผลิตเซลล์และแผงชนิด Amorphous Silicon และการประกอบแผงเซลล์ชนิด Crystalline Silicon โดยการนำเข้าแผ่นเซลล์สำเร็จรูป และต่อมาพัฒนาการผลิตแผ่นเซลล์ด้วยการนำเข้าแผ่น Wafer จากต่างประเทศ โดยช่วงก่อนปี 2556 ประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อขึ้นรูปโซลาร์เซลล์และประกอบแผงโซลาร์เซลล์ จำนวน 5 ราย ได้แก่ บริษัท บางกอกโซลาร์ จำกัด, บริษัท เอกรัฐโซลาร์ จำกัด, บริษัทโซลาร์ตรอน (มหาชน) จำกัด, บริษัทโซลาร์เพาเวอร์เทคโนโลยี (SPOT) จำกัด และบริษัทชาร์ปเทพนคร จำกัด ทั้ง 5 รายนี้มีกำลังผลิตรวมทั้งสิ้นเพียง 110 เมกะวัตต์ต่อปี โดยที่ผ่านมากับพบปัญหาไม่มียอดสั่งซื้อในประเทศมากพอ ได้ทำให้บางรายต้องประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง
ส่วนในปัจจุบัน ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า การส่งออกโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ของไทยที่ผ่านมา มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เฉลี่ยแล้วเติบโตประมาณร้อยละ 55 ต่อปี (ตั้งแต่ปี 2554-2558) โดยมีตลาดสำคัญคือประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้แผงโซลาร์เซลล์มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ในปี 2558 ไทยมีการส่งออกโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 1,452.4 จากปี 2557 โดยส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกามากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 73.2 จากมูลค่าการส่งออกทั้งหมด หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยกว่าร้อยละ 160 ต่อปี ตั้งแต่ปี 2554-2558 โดยเฉพาะในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนผลิตโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ในไทยเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยมีมูลค่าการลงทุนราว 45,186 ล้านบาท เติบโตมากกว่าร้อยละ 850 จากปี 2557 ซึ่งหากบริษัทผู้ผลิตมีการลงทุนตามแผนที่วางไว้ อุตสาหกรรมผลิตเซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ของไทยโดยรวมน่าจะมีกำลังการผลิตพุ่งสูงกว่า 1,000 เมกะวัตต์ต่อปีในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า และในกรณีที่มีการผลิตเต็มกำลังในอนาคต ก็น่าจะส่งผลให้การผลิตโดยภาพรวมสูงกว่า 2,000 เมกะวัตต์ต่อปี ซึ่งย่อมจะส่งผลดีต่อการส่งออกเซลล์และแผงโซลาร์เซลล์โดยภาพรวมของไทย ให้ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด และจากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่าการส่งออกที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในปี 2558 นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ประกอบการในประเทศแสวงหาโอกาสไปสู่การส่งออกมากขึ้น เพื่อทดแทนความต้องการในประเทศที่หดตัวลง อันเนื่องมาจากปริมาณความต้องการใช้แผงโซลาร์เซลล์ในประเทศไทยเข้าสู่ภาวะชะลอตัวตามการลงทุนของธุรกิจโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ประกอบกับการผลักดันโครงการเปิดเสรีในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่อยู่อาศัยหรืออาคารภาคธุรกิจ (โซลาร์รูฟท็อป) และโครงการโซลาร์ฟาร์มในส่วนราชการของรัฐบาลที่ยังไม่มีความชัดเจน อีกทั้งยังมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การเข้ามาลงทุนผลิตโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ของนักลงทุนต่างชาติในไทยเพื่อการส่งออก
Source:Tcijthai
You must be logged in to post a comment.