ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกต่างหันมาให้ความสำคัญทางด้านพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดตามเทรนด์รักษ์โลกกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากพลังงานดังกล่าวเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกหลักที่ทั่วโลกเลือกใช้ รวมถึงผู้ประกอบการยังให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ ๆ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ภาพรวมการใช้งานโซลาร์เซลล์ของโลก

รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกต่างก็เร่งผลักดันนโยบายทางด้านโซลาร์เซลล์ ทำให้ในปัจจุบันการติดตั้งระบบการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยกำลังการติดตั้งสะสมทั่วโลกทั้งหมด ณ สิ้นปี 2020 อยู่ที่ประมาณ 714 กิกะวัตต์ (GW) ทั้งนี้ ประเทศ 5 อันดับแรก ที่มีกำลังการติดตั้งโซลาร์เซลล์มากที่สุดในโลก ในปี 2020 ได้แก่

จีน มีกำลังการติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้วทั้งสิ้น 254,355 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งจีนได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์เป็น 1,200 กิกะวัตต์ (GW) ภายในปี 2030 นอกจากนี้ ยังได้มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 การบริโภคพลังงานทดแทนในประเทศจีนจะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60 ของการบริโภคพลังงานขั้นสุดท้ายทั้งหมดของจีน หรือคิดเป็นร้อยละ 86 ของการผลิตพลังงานไฟฟ้าของจีน ทั้งนี้ จีนถือเป็นผู้นำในตลาดสินค้าโซลาร์เซลล์ของโลก โดยได้รับอุปสงค์ภายในประเทศจากการเพิ่มกำลังผลิตของพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อควบคุมปัญหาด้านมลภาวะและอุปสงค์จากต่างประเทศ ได้แก่ เทรนด์พลังงานสะอาดที่กำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

 สหรัฐฯ มีกำลังการติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้วทั้งสิ้น 75,572 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งสหรัฐฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอน ร้อยละ 80 ในภาคการผลิตไฟฟ้าภายในปี 2030 และมุ่งสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน 100% ภายในปี 2035 นอกจากนี้ The Solar Futures Study โดย Department of Energy ยังเผยว่า ในปี 2035 สหรัฐฯ จะมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ถึงร้อยละ 40 ของการผลิตไฟฟ้าในสหรัฐฯ ทั้งนี้ พลังงานแสงอาทิตย์จะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนภาคพลังงานของสหรัฐฯ ให้เป็นพลังงานสะอาดและจะช่วยทำให้สหรัฐฯ สามารถบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนได้ในอนาคตอันใกล้อีกด้วย5

ญี่ปุ่น มีกำลังการติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้วทั้งสิ้น 67,000 เมกะวัตต์ (MW) โดยแหล่งพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นตั้งแต่เกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะในปี 2011 ทั้งนี้ กำลังการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของญี่ปุ่นอาจสูงถึง 100 กิกะวัตต์ (GW) ภายในปี 2025 ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลและต้นทุนโซลาร์เซลล์

เยอรมนี มีกำลังการติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้วทั้งสิ้น 53,783 เมกะวัตต์ (MW) โดยรัฐบาลเยอรมันได้เสนอให้เพิ่มเป้าหมายการติดตั้งโซลาร์เซลล์เป็น 100 กิกะวัตต์ (GW) ในปี 2030 และแม้ว่าเยอรมันจะเป็นประเทศที่ตั้งอยู่พื้นที่ที่มีแดดน้อย แต่ร้อยละ 50 ของการใช้พลังงานทั้งหมดในประเทศมาจากแสงอาทิตย์และคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 65 ภายในปี 2030

อินเดีย มีกำลังการติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้วทั้งสิ้น 39,211 เมกะวัตต์ (MW) โดยอินเดียได้ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์เป็น 280 กิกะวัตต์ (GW) ภายในปี 2030-2031 อีกด้วย

สำหรับประเทศไทยนั้น พบว่า ในปี 2020 ที่ผ่านมา กำลังผลิตติดตั้งไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน มีปริมาณรวม 12,005 เมกะวัตต์ (MW) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.3 โดยเป็นกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 2,979.4 เมกะวัตต์ (MW) หรือคิดเป็นร้อยละ 24.88

จากกราฟที่ 1 (ทางซ้าย) มูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าโฟโตวอลตาอิกเซลล์ที่ยังไม่ได้ประกอบ (HS 85414021) ของไทย ปี 2016-2020 แสดงให้เห็นว่า ในช่วงปี 2018-2020 การนำเข้าสินค้าโฟโตวอลตาอิกเซลล์ที่ยังไม่ได้ประกอบ (HS 85414021) ของไทยจากทั่วโลกมีการขยายตัว โดยประเทศนำเข้าหลักของไทย ได้แก่ จีน เวียดนามและมาเลเซีย ในขณะที่การส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทยไปทั่วโลกกลับหดตัว โดยประเทศส่งออกหลักของไทย ได้แก่ เวียดนาม

จากกราฟที่ 2 (ทางขวา) มูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าโฟโตวอลตาอิกเซลล์ที่ประกอบขึ้นเป็นโมดูลหรือทำเป็นแผง (HS 85414022) ของไทย ปี 2016-2020 แสดงให้เห็นว่า ในช่วงปี 2018-2020 การนำเข้าสินค้าโฟโตวอลตาอิกเซลล์ที่ประกอบขึ้นเป็นโมดูลหรือทำเป็นแผง (HS 85414022) ของไทยจากทั่วโลกมีการขยายตัว โดยประเทศนำเข้าหลักของไทย ได้แก่ จีน ขณะที่การส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทยไปทั่วโลกก็มีการขยายตัวเช่นกัน โดยประเทศส่งออกหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐ ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงถึง ร้อยละ 97

จะเห็นได้ว่า ไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ในการส่งออกสินค้าโฟโตวอลตาอิกเซลล์ที่ประกอบขึ้นเป็นโมดูลหรือทำเป็นแผง (HS 85414022) ค่อนข้างมาก โดยความต้องการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในสหรัฐฯ จะทำให้การส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทยไปสหรัฐฯ ขยายตัวมากขึ้น ในขณะที่เวียดนามนั้น ก็เป็นอีกประเทศที่ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสนใจเนื่องจากการผลิตพลังงานหมุนเวียนในเวียดนามโดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานแสงอาทิตย์นั้นได้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเวียดนามได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์และพลังงานลมเป็นร้อยละ 15-20 ภายในปี 2030 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25-30 ภายในปี 2045

สรุป

เราคงไม่อาจปฏิเสธเทรนด์รักษ์โลกและการลดการปล่อยคาร์บอนได้ เนื่องจากประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ต่างก็ขานรับเทรนด์ดังกล่าวพร้อมทั้งออกนโยบายสนับสนุนในการเลือกใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนอย่างการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ สำหรับประเทศไทยนั้น หากภาครัฐมีนโยบายให้การสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้ภาคเอกชนเร่งทำการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีจนทำให้อุปกรณ์ต่างๆ มีต้นทุนในการผลิตและการติดตั้งที่ถูกลง และประชาชนก็จะสามารถเข้าถึงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากขึ้น นอกจากนี้ การสนับสนุนอุตสาหกรรมดังกล่าวยังเป็นแรงกระตุ้นภาคธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องตามมา เช่น ธุรกิจการผลิตอินเวอร์เตอร์และวัสดุอุปกรณ์ของระบบโซลาร์เซลล์ ธุรกิจการออกแบบและติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ งานด้านบำรุงรักษา เป็นต้น รวมไปจนถึงเกิดการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การใช้ระบบการควบคุมการทำงานผ่านแพลตฟอร์มและอุปกรณ์ดิจิทัล และการใช้ CCTV และเซ็นเซอร์ในการอ่านข้อมูลต่างๆ 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาครัฐจะออกนโยบายเพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดภายในประเทศและเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตและส่งออกโซลาร์เซลล์ไปยังประเทศคู่ค้าได้มากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังมีข้อควรระวังอื่นๆ ด้วย กล่าวคือ หลายประเทศทั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และสนับสนุนให้เกิดการผลิตภายในประเทศ ทำให้ในปัจจุบัน ประเทศคู่ค้าของไทยหลายรายเริ่มมีการออกมาตรการกีดกันทางค้าเพื่อหวังที่จะลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตสินค้า โดยจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตโซลาร์เซลล์รายใหญ่ของโลกกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนโพลีซิลิคอน (Polysilicon) และการขาดแคลนกระจกในการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ เนื่องจากความต้องการโซลาร์เซลล์ทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น24 ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือและหาวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้า

Source:Mreport

This entry was posted in Cells & Modules, China, Global Warming, PV, Renewables, Solar, Solar Policy, Solar PV and tagged , , , , , , , , , , , , , . Bookmark the permalink.

Leave a comment